เดินตามรอยพ่อ เรียนรู้วิธีอนุรักษ์ ใช้น้ำแบบรู้คุณค่า

นี่คือเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อบรรดาเยาวชนตัวน้อยในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลโพเด ตำบลแม่วะหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ต้องการที่จะช่วยกันคนละไม้ละมือในการลดปัญหาการขาดแคลนน้ำภายในชุมชน ด้วยการร่วมกันประหยัดน้ำและใช้น้ำให้เกิดคุณค่ามากที่สุด จึงทำให้น้องๆ ได้มีโอกาสที่จะตามรอยพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในด้านการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันที่จะกลายมาเป็นอาหารกลางวันมื้ออร่อยสำหรับเลี้ยงทุกคนในโรงเรียน
นี่คือเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อบรรดาเยาวชนตัวน้อยในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลโพเด ตำบลแม่วะหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ต้องการที่จะช่วยกันคนละไม้ละมือในการลดปัญหาการขาดแคลนน้ำภายในชุมชน ด้วยการร่วมกันประหยัดน้ำและใช้น้ำให้เกิดคุณค่ามากที่สุด จึงทำให้น้องๆ ได้มีโอกาสที่จะตามรอยพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในด้านการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันที่จะกลายมาเป็นอาหารกลางวันมื้ออร่อยสำหรับเลี้ยงทุกคนในโรงเรียน
"เรามองว่าชุมชนบ้านเลโพเดแห่งนี้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ทั้งๆ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่มีปริมาณน้ำดื่มใช้ไม่เพียงพอ แต่ก็ยังเลือกที่จะพึ่งพาตนเองก่อน ด้วยการปลูกฝังให้เด็กๆ และทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ รวมทั้งรู้จักใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เราจึงอยากที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนในส่วนที่ยังขาดอยู่ ซึ่งเป็นส่วนของงานท่อประปาภูเขาที่จะต่อจากต้นน้ำลงมาสู่หมู่บ้าน และแม้ว่านี่อาจจะเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ที่ได้เข้ามาทำ แต่เราก็รู้สึกภูมิใจและดีใจมากที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการมอบสิ่งดีๆ ให้กับเด็กๆ และทุกคนในชุมชนแห่งนี้ครับ"
ด้าน ดาบตำรวจประชา รุ้งวิจิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลโพเด ได้เล่าให้ฟังว่า จากจำนวนที่เพิ่มขึ้นของประชากรในชุมชนทำให้มีปัญหาการขาดแคลนน้ำมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งที่ปริมาณน้ำจะลดลงไปมาก ซึ่งก่อนหน้านี้คนในชุมชนได้แก้ปัญหาด้วยการสร้างประปาภูเขาที่ทำกันเองแบบง่ายๆ ขึ้นมา โดยต่อจากต้นน้ำซึมเล็กๆ ซึ่งเป็นต้นน้ำที่เกิดจากการที่ดินและรากต้นไม้บนภูเขาอุ้มน้ำจากฝนหรือแหล่งน้ำใหญ่ในป่าเอาไว้ แล้วค่อยๆ ซึมผ่านใต้ดินมาผุดขึ้นเป็นสายน้ำเล็กๆ ในบริเวณพื้นที่ที่อยู่ตอนล่างลงมา แต่ก็ยังมีปริมาณน้ำไม่มากเพียงพอสำหรับให้ทุกคนใช้อุปโภคบริโภค จนกระทั่งหน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณและช่วยสร้างประปาภูเขาจากต้นน้ำใหญ่ ซึ่งเป็นน้ำตกที่อยู่ไกลออกไปจากหมู่บ้านถึง 6 กิโลเมตร เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอกับความต้องการของคนในชุมชนมากยิ่งขึ้น
“คนในชุมชนที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กๆ หรือผู้ใหญ่ต่างก็เชื่อว่าป่าคือชีวิต เมื่อตราบใดที่มีป่าเราก็จะมีน้ำกินน้ำใช้ ทำให้ชาวบ้านได้ร่วมใจกันน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเกี่ยวกับการดูแลต้นน้ำมาเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำมาโดยตลอดครับ ซึ่งจากจุดนี้ทำให้ทุกคนในชุมชนเข้าใจว่าน้ำทุกหยดมีค่าจริงๆ และพร้อมที่จะช่วยกันบริหารจัดการการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการที่หน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการสร้างประปาภูเขาและการจัดวางท่อส่งน้ำให้ทั่วถึง แบบไม่รบกวนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเลย จึงถือว่าเป็นการช่วยเหลือชุมชนแห่งนี้อย่างแท้จริงครับ” ด.ต.ประชา กล่าว
สำหรับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลโพเด ได้ถือกำเนิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนแห่งนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงสัญชาติไทยได้มีโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการพัฒนาคุณภาพและขยายโอกาสทางด้านการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลกันดาร ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนประมาณ 130 คน ครูผู้สอน 7 คน ดูแลตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยนอกเหนือจากวิชาในห้องเรียนแล้ว ทางครูผู้สอนยังได้มีการจัดทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์เพิ่มเติมอีกด้วย
เราลองมาพูดคุยกับ เด็กหญิงรุจิรดา ประวัติวงศ์วารี อายุ 14 ปี ปัจจุบันน้องรุจิรดากำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งในวันนี้ สาวน้อยหน้าใสของเราจะมาร่วมโชว์ผลงานโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันสุดภาคภูมิใจ พร้อมเล่าประสบการณ์ในการบริหารจัดการน้ำสำหรับแปลงเกษตรให้พวกเราฟังกันด้วยว่า
“โครงการเกษตรของพวกหนูมีพืชผัก ปลาดุก หมู เป็ด ไก่ และผลไม้ค่ะ ซึ่งทั้งหมดจะถูกส่งไปทำเป็นอาหารกลางวันของพวกเราเอง ถ้ามีวัตถุดิบเหลือ คุณครูจะให้พวกเรานำกลับไปฝากพ่อแม่ที่บ้านด้วย ซึ่งโครงการเกษตรนี้พวกหนูช่วยกันดูแลโดยต้องใช้น้ำอย่างประหยัดค่ะ เพราะเรามีน้ำน้อยมาก และในหน้าแล้งของทุกปีพวกเราแทบจะไม่มีน้ำใช้เลย คุณครูจึงสอนและนำเอาบางส่วนจากการเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้เป็นแนวทางค่ะ เพราะเป็นวิธีที่ช่วยให้พวกหนูสามารถช่วยกันดูแลโครงการเกษตรได้ง่ายขึ้น โดยเราเริ่มต้นทำบ่อน้ำและหาถังมาเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง จากนั้นเราก็นำน้ำสะอาดมาแบ่งไปเลี้ยงหมู และเป็ดไก่ก่อน จากนั้นเราจะนำน้ำที่ได้จากบ่อปลาและปุ๋ยจากคอกสัตว์มาใช้ดูแลแปลงผักและผลไม้ต่างๆ และพวกหนูได้ยังได้ทดลองทำหญ้าแห้งมาคลุมบริเวณโคนต้นหลังรดน้ำด้วย เพื่อให้ดินชุ่มชื่นนานๆ และเป็นการประหยัดน้ำเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วยค่ะ” น้องรุจิรดา กล่าวด้วยน้ำเสียงภูมิใจ
ทางด้านของสาวน้อยคนนี้ เด็กหญิงชุติมา พนาบัวปี อายุ 14 ปี ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก็ไม่ขอน้อยหน้าเพื่อนสนิท รีบขันอาสามาร่วมเล่าประสบการณ์การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าในแบบฉบับของเจ้าตัว พร้อมแบ่งปันความรู้สึกดีใจที่ได้เรียนประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ให้เราฟังเพิ่มเติมกันอีกด้วยว่า
“นอกจากหนูกับเพื่อนๆ จะได้เรียนรู้วิธีการใช้น้ำอย่างประหยัดจากโครงการเกษตรที่โรงเรียนแล้ว หนูยังได้เรียนรู้วิธีประหยัดน้ำมาจากพ่อและแม่ที่บ้านด้วยค่ะ เพราะเราอยู่ในชุมชนที่มีน้ำกินน้ำใช้ไม่มาก แม่จึงสอนให้หนูใช้วิธีง่ายๆ อย่างเช่นเวลาซักผ้าหรือล้างจาน เมื่อเสร็จแล้วหนูก็จะเอาน้ำสุดท้ายไปใช้รดต้นไม้รอบบ้านแทนการเทน้ำทิ้งไปเปล่าๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ พวกเราจะช่วยกันอนุรักษ์และดูแลป่าต้นน้ำ ซึ่งคุณครูเคยเล่าว่า พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านสอนให้พวกเราดูแลป่าต้นน้ำให้ดี เพราะถ้าป่าต้นน้ำยังอุดมสมบูรณ์อยู่ เราทุกคนก็จะยังมีน้ำไว้ใช้ตลอดไปค่ะ ซึ่งจากที่พี่ๆ ได้เข้ามาสอนให้พวกหนูทำดอกไม้จันทน์ หนูดีใจมากเลยค่ะ เพราะพวกหนูอยากจะทำอะไรเพื่อตอบแทนพระองค์ท่านบ้าง แต่พวกหนูอยู่ไกลมากก็เลยยังไม่มีโอกาสทำ วันนี้เลยตั้งใจจะทำดอกไม้จันทน์ให้ได้เยอะๆ เพื่อฝากไปบอกท่านว่า พวกหนูรักท่านและจะเดินตามรอยเท้าและคำสอนของพระองค์ท่านตลอดไปค่ะ” น้องชุติมา กล่าวด้วยรอยยิ้ม
และนี่คือเสียงสะท้อนความภาคภูมิใจน้อยๆ ของ 2 เยาวชนวัยใสจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลโพเด ซึ่งแม้จะเป็นเพียงเยาวชนตัวน้อยๆ ก็ตาม แต่พวกเขาคือต้นอ่อนที่พร้อมแล้วสำหรับการเติบโตบนเส้นทางการอนุรักษ์น้ำได้อย่างเต็มภาคภูมิ